ปั้นจั่นหรือเครน (CRANE)
ปั้นจั่นหรือเครน (CRANE)
ปั้นจั่นหรือเครน คือ เครื่องจักรกลที่ใช้สำหรับยกสิ่งของขึ้นลงตามแนวดิ่งและเคลื่อนย้ายสิ่งของในลักษณะแขวนลอยไปตามแนวราบ ปั้นจั่นแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ปั้นจั่นชนิดอยู่กับที่และปั้นจั่นชนิดเคลื่อนที่
1.) ปั้นจั่นแบบอยู่กับที่ (Stationary Crane) เป็นแบบที่ประกอบด้วยอุปกรณ์การควบคุมและมีเครื่องต้นกำลังอยู่ในตัว ซึ่งจะติดตั้งอยู่บนหอสูง บนขาตั้งหรือบนล้อเลื่อน การใช้งานจะถูกจำกัดตามระยะที่ขาตั้งหรือล้อเลื่อนจะสามารถเคลื่อนที่ไปได้หรือแขนของปั้นจั่นที่ติดอยู่บนหอสูงจะยาวไปถึง ปั้นจั่นชนิดนี้ส่วนมากจะนำไปใช้งานมากในโรงงานอุตสาหกรรม ท่าเรือและการก่อสร้างตึกสูงๆ ได้แก่ ปั้นจั่นหอสูง (Tower Crane) ปั้นจั่นราง (Overhead Crane) ปั้นจั่นขาสูง (Gantry Crane) ปั้นจั่นขาสูงแบบข้างเดียว (Semi Gantry Crane) และปั้นจั่นติดผนัง (Wall Crane) กฎหมายระบุว่าต้องทำการ ตรวจ ปจ.1 ตามที่กฎหมายกำหนดและให้วิศวกรเซ็นต์รับรองความปลอดภัยตามแบบตรวจ ปจ.1 ของกรมสวัสดิการฯ
2.) ปั้นจั่นแบบเคลื่อนที่ (Mobile Crane) เป็นปั้นจั่นที่ประกอบด้วยอุปกรณ์ควบคุมและมีเครื่องต้นกำลังติดอยู่บนยานที่ขับเคลื่อนในตัวเอง หรือจะกล่าวได้ว่าอุปกรณ์และเครื่องต้นกำลังจะติดตั้งอยู่บนยานพาหนะต่างๆ ได้แก่ รถตีนตะขาบ (Crawler Crane) รถบรรทุกล้อยาง (All Terrain Crane) รถเครน 4 ล้อ (Rough Terrain Crane) และ รถบรรทุกที่มีปั้นจั่นติดอยู่บนรถ (Truck Loader Crane)
กฎหมายระบุว่าต้องทำการตรวจปจ.2 ตามที่กฎหมายกำหนดและให้วิศวกรเซ็นต์รับรองความปลอดภัยตามแบบตรวจ ปจ.2 ของกรมสวัสดิการฯ
กฎหมายเกี่ยวกับปั้นจั่น
กฎหมายระบุว่าต้องทำการตรวจปั้นจั่นหรือเครนทุกชนิด ตามที่กฎหมายกำหนดให้วิศวกร เซ็นต์รับรองความปลอดภัยตามแบบตรวจ ปจ.1หรือ ปจ.2 ของกรมสวัสดิการฯ
วิศวกรทดสอบพิกัดยกอย่างปลอดภัย (Safe Working Load)
-พิกัดยกอย่างปลอดภัยตามที่ผู้ผลิตกำหนด ตั้งแต่ 1 ตัน ไม่เกิน 3 ตัน ให้ทดสอบตามวาระทุก 1 ปี
-พิกัดยกอย่างปลอดภัยตามที่ผู้ผลิตกำหนด มากกว่า 3 ตัน ไม่เกิน 50 ตัน ให้ทดสอบตามวาระทุก 6 เดือน
-พิกัดยกอย่างปลอดภัยตามที่ผู้ผลิตกำหนด มากกว่า 50 ตัน ให้ทดสอบตามวาระทุก 3 เดือน
ข้อควรปฏิบัติก่อนการใช้งานเครน
1.ตรวจสอบโซ่, สลิงและตะขอยกน้ำหนักรวมถึงอุปกรณ์ช่วยยกต้องไม่ชำรุด บิด งอ แตกร้าว
2.ตรวจสอบผู้มีหน้าที่ปฏิบัติงานรอกและเครนต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลตลอดเวลา(PPE)
3.ตรวจสอบเครนให้มีพื้นที่ ราวกันตก และแผงกันตกระดับพื้นสำหรับปั้นจั่นชนิดที่ต้องมีการจัดทำพื้นยืนซ่อมบำรุงเครน(Platform)
4.ตรวจสอบชุดปุ่มฉุกเฉินหยุดการทำงานตัดระบบไฟฟ้าของรอกและเครน(Emergency Stop)
5.ตรวจสอบชุดควบคุมตัดการทำงาน (Limit Switch )ทุกทิศทางรอกและเครน ให้อยู่ในสภาพปกติ
6.ตรวจสอบชุดควบคุมพิกัดน้ำหนักยก (Overload Limit Switch) ที่ใช้งานได้ตามปกติ
7.ตรวจสอบสัญญาณเสียงและแสงไฟเตือนภัยตลอดเวลาที่รอกและเครนทำงาน (Signal Light & Signal Phone)
8.ตรวจสอบป้ายบอกพิกัดน้ำหนักยกไว้ที่รอกและเครน (Direction Plate)ป้ายบอกทิศทางรอกและเครน(ซ้าย-ขวา,ไป-กลับ)
9.ตรวจสอบว่าจุดที่มีรอกและเครนติดตั้งใช้งานอยู่ต้องมีป้ายสัญญาณมือและคู่มือวิธีการใช้งานของรอกและเครนอยู่หรือไม่(Hand Signal Plate)
10.ตรวจสอบดูว่ามีป้ายบอกจุดจอดของรอกและเครนหรือไม่(Parking Hoist)
11.ห้ามใช้รอกและเครนในสภาพแวดล้อมที่ใกล้เสาไฟฟ้าแรงสูง